พระภรรยาเจ้า ที่ทรงโปรดเกล้าฯ สถาปนาทั้งพระภรรยาสามัญชน และพระราชินี ตำแหน่ง “ราชการฝ่ายใน” สมัยรัชกาลที่ 5-6
ในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 มีการกำหนดคำนำหน้าพระนามและลำดับพระอิสริยยศแห่งพระมเหสีเทวีอย่างเป็นทางการ และมีแบบแผนที่แน่นอน ชัดเจน เพื่อกำหนดพระราชโอรส ผู้ที่จะสืบราชสมบัติต่อไป
สมเด็จพระนางเจ้า พระบรมราชินีนาถ อยู่ในลำดับสูงสุด
รองลงมาคือ “สมเด็จพระนางเจ้า พระบรมราชเทวี” “พระนางเจ้า พระราชเทวี” “พระอรรคชายา” และ “พระราชชายา”
กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์และกรมพระยาดำรงราชานุภาพ นิพนธ์ไว้ว่า “คำว่า พระสนม ซึ่งเป็นคำใช้เรียกสามัญชนที่อยู่ในฐานะพระภรรยาเจ้านั้น เป็นคำที่ไม่นิยมเรียกในสมัยรัชกาลที่ 5 หากเรียกกันว่า เจ้าจอม เจ้าจอมอยู่งาน และเจ้าจอมมารดา แทน”
สำหรับ พระภรรยาสามัญชน ในรัชกาลที่ 5 ที่ดำรงพระยศสูงสุด คือเจ้าคุณจอมมารดาแพ หรือเจ้าคุณพระประยูรวงศ์ เป็นธิดาเจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์ และท่านผู้หญิงอิ่ม เมื่ออายุได้ 13 ปี สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ต้นตระกูลบุนนาค) ได้นำท่านไป “รับราชการฝ่ายใน” โดยฝากกับเจ้าจอมมารดาเที่ยงในรัชกาลที่ 4 เจ้าจอมมารดาเที่ยงให้ท่านไปอยู่กับ พระองค์เจ้าโสมาวดี พระราชธิดาเจ้าจอมมารดาเที่ยง
เมื่อครั้งรัชกาลที่ 5 ดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ เกิดเป็นเรื่องราวความรัก เจ้าจอมมารดาเที่ยง จึงกราบทูลรัชกาลที่ 4 ให้ทรงทราบ และตรัสขอ “คุณแพ” จากพระยาพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ “คุณแพ” จึงกลายเป็น “หม่อมแพ”
และได้เลื่อนเป็น “เจ้าจอมมารดาแพ” ในตำแหน่ง “พระสนมเอก” ต่อมาได้สถาปนาเป็น “เจ้าคุณจอมมารดาแพ” เป็นท่านเดียวในรัชกาลที่ 5 ที่ดำรงพระยศสูงสุดในกลุ่มพระภรรยาสามัญชน โปรดเกล้าฯให้เปลี่ยนเครื่องในพานทองเครื่องยศของเจ้าคุณจอมมารดาแพเป็นทองคำลงยาราชาวดี เทียบเท่าพระภรรยาเจ้า ได้รับการยกย่องเหนือกว่าพระสนมเอกท่านอื่นๆ
ให้ใช้ราชาศัพท์ กับเจ้าคุณจอมมารดาแพ เช่น คำว่า “สรง บรรทม เสด็จ” เป็นต้น
มีพระราชธิดา 3 พระองค์ คือ 1.พระองค์เจ้าศรีวิไลยลักษณ์ สุนทรศักดิกัลยาวดี กรมขุนสุพรรณภาควดี 2.พระองค์เจ้าสุวพักตร์วิไลยพรรณ 3.พระองค์เจ้าบัณฑรวรรณวโรภาษ
พระราชธิดาอันประสูติจากเจ้าคุณจอมมารดาแพ ทรงเป็นที่โปรดปรานอย่างยิ่ง โดยเฉพาะพระองค์เจ้าศรีวิไลยลักษณ์ สุนทรศักดิกัลยาวดี กรมขุนสุพรรณภาควดี รัชกาลที่ 5 ทรงออกโอษฐ์ ว่าทรงเป็น “ลูกคู่ทุกข์ คู่ยาก”
สร้อยพระนาม “สุนทรศักดิกัลยาวดี” ซึ่งตามปกติสร้อยพระนามจะมีแต่ในพระนามสมเด็จเจ้าฟ้า และเป็นพระธิดาองค์เดียวที่ได้รับการสถาปนาให้ “ทรงกรม” ระดับ “กรมขุน”
ม.ร.ว.คึกฤทธ์ ปราโมช เขียนไว้ในนิยายเรื่อง 4 แผ่นดิน ตอนหนึ่ง เมื่อ ช้อย-คุณข้าหลวง ออกไปนอกวัง เพื่อสนทนากับแม่พลอย เธอกล่าวถึงการสถาปนา “คุณพระ” ไว้ว่า “สมัยนี้ท่านโปรดใครก็โปรดจริงๆ ไม่เหมือนแต่ก่อน ท่านก็ต้องยกย่องของท่านให้สูงเป็นพิเศษอย่างเจ้าจอมที่เราเคยรู้จักนั้นมีมากดาษดื่น และฟังดูมันคร่ำครึ ล้าสมัย สมัยนี้จึงต้องตั้งให้เป็นคุณพระ ให้ฟังดูผิดกว่าแต่ก่อนและบางทีเมื่อเริ่มเป็นคุณพระแล้ว จะเป็นอะไรต่อไปก็ได้”
เกี่ยวกับ พระราชินี และราชสำนักฝ่ายใน ในรัชสมัย สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 ตามบันทึกของ “ม.จ.พูนพิศมัย ดิศกุล” เขียนไว้ในหนังสือชื่อ “พระราชวงศ์จักรี สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6” มีความตอนหนึ่งว่า…
“ในเรื่องพระมเหษีนี้ เป็นเรื่องหนึ่งที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงถูกติเตียน ทั้งในเมืองไทยและต่างประเทศ ข้าพเจ้าได้ยิน ได้ฟัง ได้อ่าน จนวิงเวียนด้วยความเศร้าใจ ฉะนั้นในที่นี้ เราจะต้องพูดกันให้เข้าใจ ว่าเป็นมาอย่างไรตั้งแต่ต้น โดยความเที่ยงตรงไม่โอนเอียงเข้าแก่ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด เพราะถ้าถามข้างไหน ข้างนั้นก็ย่อมจะต้องเห็นอีกฝ่ายหนึ่งผิดเป็นธรรมดา…”
“ข้าพเจ้าได้พยายามเรียนเรื่องนี้มาช้านานแล้ว ก็ยังไม่ได้รู้เท่าที่พอใจจะรู้ จนพระเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) เสด็จสวรรคตแล้วถึง 10 ปีกว่า จึงมีโอกาสได้สนทนากับท่านผู้มีชื่อต่างๆ นี้เกือบจะทุกคน ข้าพเจ้าจะไม่กล่าวว่าได้รู้จากผู้ใดโดยไม่จำเป็น ทั้งนี้เพราะไม่มีความประสงค์จะให้เขาหมางใจกันต่อไปอีก ขอรับรองแต่ว่าได้รู้จากปากที่ 1 เท่านั้น”
“…ตามธรรมเนียมในเวลาเสด็จขึ้นราชมณเฑียร ในงานบรมราชาภิเศก ท้าวรจันทร์ จะต้องทูลเกล้าฯ ถวายรายชื่อหญิงบรรดาศักดิ์ 12 คน เพื่อทรงใช้สอยปฏิบัติ จึงเรียกว่า 12 พระกำนัล และท้าวทรงกันดาล-ถวายพวกกุญแจคลังทั้งสิ้นในพระบรมมหาราชวัง พอเริ่มจัดงานก่อนวันบรมราชาภิเศก พระเจ้าอยู่หัวก็สมเด็จพระราชชนนีว่า หน้าที่ท้าววรจันทร์นั้น ขอประทานเลิกเสียที พระออกจะพ้นสมัยแล้ว”
“ก็เป็นอันไม่มีการถวาย 12 พระกำนัล ผู้หญิงสาวต้องผ่านโชคลาภไปถึงหนึ่งโหล น่าสงสารนัก แต่สมเด็จพระพันปีก็ได้ทรงเลือกเจ้าหญิงถวายอีกองค์หนึ่งเหมือนกัน แต่พระเจ้าอยู่หัวได้ตรัสว่า ก็ฉันไม่รักนี่นา แล้วก็เลยเลื่อนกันไปอีกครั้งหนึ่ง”
ม.จ.พูนพิศมัย บันทึกว่าเหตุการณ์ในครั้งนั้นเป็น “ศึกมืดของหญิงได้เกิดขึ้นแต่แรกเสวยราชย์ ด้วยประการฉนี้ และจะมีอะไรสนุกและร้ายกาจเท่ากับผู้หญิงแย่งกันเล่า? ต่างพวกต่างหนุนในพวกของตัว แล้วก็ทับถมอีกฝ่ายหนึ่ง หรือฝ่ายอื่นๆ ต่อไป…”
ในพระราชนิพนธ์เรื่อง “ประวัติต้นรัชกาลที่ 6″ ระบุถึงการอภิเษกสมรส เนื้อความตอนหนึ่งว่า “ในงานนี้เสด็จแม่ได้ตรัสแก่ฉันว่าให้เลือกคู่เสียเถิด และทรงอ้างว่าทูลหม่อมก็ได้ทรงบ่นอยู่ว่าอยากให้ฉันมีเมีย ส่วนพระองค์เสด็จแม่เองนั้นมีพระประสงค์ให้ฉันเลือกลูกเธอของทูลหม่อมองค์ 1 และทรงแนะนำว่า หญิงน้อย (สมเด็จเจ้าฟ้านิภานพดล) เปนผู้ทรงที่เห็นเหมาะ”
ในหมู่ชาววังยุคนั้น กล่าวกันว่ามีสตรีที่สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาทรงเลือกสรร เตรียมเป็นสะใภ้หลวง อาทิ
-พระองค์เจ้าเยาวภาพงศ์สนิท
-หม่อมเจ้าทิพยรัตน์ประภา เทวกุล
-พระองค์เจ้าสุทธวิไลยลักษณา
มีเหตุการณ์หนึ่งที่นำไปสู่การประกาศ “ทรงหมั้น” ตามบันทึกของ มจ.พูนพิศมัย “…จนคืนหนึ่งดูการโชว์รูปแล้วก็ทรงไพ่บริดจ์ หนุ่มๆ สาวๆ เข้าเข้าโต๊ะไพ่ พระองค์วัลภาฯ ก็ขอตัวว่าเล่นไม่เป็นจะนั่งดู แล้วก็นั่งอยู่ข้างพระเก้าอี้พระเจ้าอยู่หัว เจ้าพระคุณเอ๊ย Cupid เกิดจำแลงตัวเป็นยุงมาเกาะพระกรพระเจ้าอยู่หัวเข้า พระองค์วัลภาฯ ก็คล่องยกมือขึ้นตบแป๊ะ แต่นั้นในหลวงก็ตกลงพระราชหฤทัยว่าทรง in love อย่างจริงจังขึ้นทุกที..”
“…ลองคิดดูเถิดท่านว่า พวกที่เขาแพ้นั้นเขานึกว่าอย่างไรบ้าง? และยิ่งคนที่ไม่เคยแพ้ มารู้รสแพ้เข้า ก็เป็นธรรมดาที่จะต้องรู้สึกมาก และคิดพยายามกลับเอาชนะให้จงได้…เมื่อเรื่องตั้งต้นขึ้นด้วยสงครามเงียบฉะนี้แล้ว ก็ไม่แปลกอะไรที่จะมี จุดดำในดวงพระอาทิตย์”
“พระองค์วัลภาฯ เป็นพระคู่หมั้นได้เพียง 3 เดือน พระองค์ลักษมีลาวัณ รับต่อมาอีก 6 เดือน…ครั้งหนึ่งพระเจ้าอยู่หัวตรัสว่า คนหนึ่งก็รู้เสียหมดจนจะเป็นแม่ อีกคนหนึ่งก็ไม่รู้อะไรเสียเลยจนพูดด้วยไม่ได้ -เข็ดจนตายพวกนี้”
ต่อมาพระยาอนิรุธเทวา “คิดจะเอาแม่เปรื่อง สุจริตกุล ถวาย…พ่อแม่ก็นำตัวทูลเกล้าฯ ถวายเป็นเจ้าจอม และทรงตั้งเป็น พระสุจริตสุดา ในตำแหน่งพระสนมเอก…แต่อยู่ได้ 3 เดือนก็ตกลงมา และพระสุจริตสุดาก็กลายเป็นผู้อยู่ในความทุกข์ ไม่รื่นเริงดังแรกเข้า”
สองเดือนต่อมา พระสุจริตสุดา ขอถวายน้องสาว ประไพ เข้ารับใช้ “ในไม่ช้าก็เป็นผล ในหลวงทรงขอแม่ประไพ จากพี่สาว โปรดให้เป็น พระอินทรานี พระสนมเอก เช่นเดียวกัน” และต่อมาทรงโปรดเกล้าฯ ขึ้นเป็น สมเด็จพระนางเจ้า อินทรศักดิศจี พระบรมราชินี
จากนั้นทรงโปรดเกล้าฯ “แม่ติ๋ว” ทายาทสายเจ้าพระยาอภัยภูเบศร (ชุ่ม) ขึ้นเป็น เจ้าจอมสุวัทนา และเป็นพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี มีพระราชธิดาเพียงพระองค์เดียวในรัชกาล คือ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี
ประวัติศาสตร์ ราชสำนักฝ่ายใน ในรัชสมัย รัชกาลที่ 5 และ รัชกาลที่ 6 เต็มไปด้วยธรรมเนียมพระราชประเพณีที่เคร่งครัด ดังได้กล่าวมานี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น
***ข้อมูลจากหนังสือ การเมืองในราชสำนักฝ่ายใน สมัยรัชกาลที่ 5 และ หนังสือ พระราชวงศ์จักรี สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 จัดพิมพ์โดย สำนักพิมพ์มติชน
September 05, 2020 at 08:00AM
https://ift.tt/3i1PiG6
พระภรรยาเจ้า ศึกมืดตำแหน่ง "ราชการฝ่ายใน" สมัยรัชกาลที่ 5-6 - ประชาชาติธุรกิจ
https://ift.tt/2BaQsOR
Home To Blog
No comments:
Post a Comment