Pages

Sunday, September 27, 2020

'ปรับเปลี่ยน' ไม่พอต้อง 'ปฏิรูป' - โพสต์ทูเดย์ work-life-balance - โพสต์ทูเดย์

suriyus.blogspot.com

การรับมือกับปัญหาไวรัสโควิด 19 เชิงองค์รวม : องค์กรจะยั่งยืน มิใช่แค่การปรับเปลี่ยน แต่มันต้องปฏิรูป

โดย : ภก.ดร.จันทรชัย ถวิลพิพัฒน์กุล สถาบันอินทรานส์ Hipot – การปฏิรูปศักยภาพมนุษย์อย่างบูรณาการ ศาสตร์ชีวิตองค์รวมเพื่อความมั่นคงยั่งยืน

เพราะโลกไม่แน่นอน อ่อนไหว ซับซ้อน คลุมเครือ เปลี่ยนแปลงอย่างท้าทายความสามารถมนุษย์อยู่ตลอดเวลา องค์กรที่จะอยู่รอดต้องปรับตัว หาไม่ต้องล่มสลาย ผลกระทบจากไวรัสโควิด 19 นั้นรุนแรง ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตอย่างเป็นวงกว้างทั่วโลก เป็นสัญญาณเตือนให้เราตระหนักว่า แนวคิดการพัฒนาคนและองค์กรให้ยั่งยืนนั้น ต้องก้าวข้ามจากมุมมองของแค่การปรับเปลี่ยน (Change) มาเป็นการปฏิรูป (Transformation)

คำถามที่สำคัญคือ เราต้องปฏิรูปอะไร อย่างไร องค์กรจึงจะอยู่รอด และอยู่อย่างมีคุณค่า

1.การยกระดับจากการขายสินค้าหรือบริการ มาเป็น “การสร้างคุณค่า” ให้กับผู้บริโภค

เพราะเป้าหมายขององค์กรคือความอยู่รอดอย่างยั่งยืน ดังนั้น ในการดำเนินงาน องค์กรจึงต้องยกระดับจากการพัฒนาหรือปรับปรุงสินค้าและบริการ เพียงเพื่อเพิ่มยอดขายหรือเพื่อตอบสนองความพึงพอใจของลูกค้าอย่างผิวเผิน มาเป็น “การสร้างคุณค่า” ให้เกิดขึ้นแก่ผู้บริโภคอย่างจริงจัง

2.การปรับมุมมองจากการพัฒนา “คน” มาเป็นการพัฒนา “มนุษย์”

เพราะองค์ประกอบสำคัญขององค์กรคือมนุษย์ มนุษย์มีชีวิต ชีวิตต้องการคุณค่าและความหมาย ดังนั้น การบริหารองค์กรเพื่อความยั่งยืนจึงต้องก้าวข้ามจากการพัฒนาคน มาเป็นการยกระดับ “คุณค่าของความเป็นมนุษย์” เพระมันให้ความหมายที่สูงกว่า และ ณ จุดนี้เท่านั้นที่มนุษย์จะสามารถระเบิดศักยภาพภายในออกมาได้อย่างเต็มที่ สามารถพลิกฟื้นคืนสภาพตนเองได้ เพื่อสร้างการนำตนเอง เล่นเชิงรุก

3.การพลิกมุมมองจาก “การพัฒนาเชิงเดี่ยว” มาเป็น “การพัฒนาเชิงองค์รวม”

เพราะที่ผ่านมา การพัฒนาองค์กรไม่ยั่งยืนนั้นเป็นเพราะสาเหตุหนึ่งก็คือ การพัฒนาดังกล่าวยังยึดติดอยู่กับกรอบแนวคิดการพัฒนาแบบแยกส่วน เราจึงต้องปรับมุมมองต่อการพัฒนาองค์กรเสียใหม่ ให้หลุดออกจากมุมมองที่คับแคบ เชิงเดี่ยว มาเป็น “มุมมองเชิงองค์รวม” ครอบคลุมทุกมิติชีวิต คือ จิตใจ ปัญญา อารมณ์ และภาวะผู้นำ

4.ต้องก้าวข้ามจากการพัฒนาเพื่อ “ความมีประสิทธิภาพ” มาเป็นการพัฒนาเพื่อ “ความยั่งยืน”

เพราะชีวิตมีมิติของเวลา มันดำเนินไปอย่างสืบเนื่องเชื่อมโยงอย่างเป็นสายเป็นกระแส ดังนั้น การพัฒนาจึงต้องก้าวข้ามจากเพียงเพื่อการเพิ่มประสิทธิภาพซึ่งสะท้อนถึงวิสัยทัศน์ที่คับแคบ มาเป็นการพัฒนาในมุมมองที่กว้างไกลอย่างต่อเนื่อง เพื่อการเติบโตอย่าง “สมดุล เข้มแข็ง มั่นคงยั่งยืน”

5.การยกระดับการเปลี่ยนแปลงจากแค่ “การปรับพฤติกรรม” มาเป็น “การพัฒนาที่ฐานรากชีวิต”

เพราะความยั่งยืนไม่อาจจะเกิดขึ้นได้ด้วยการปรับแต่งพฤติกรรมซึ่งเป็นเรื่องผิวเผิน ฉาบฉวย แต่ต้องเป็นการปรับเปลี่ยนที่ฐานรากชีวิต นั่นคือ “กรอบความคิด” ด้วยการปรับมุมมองที่มีต่อตนเองเสียใหม่เชิงบวก เห็นตนเองมีค่า สร้างความมั่นคงเข้มแข็งภายใน มีภูมิต้านทาน เพื่อดึงศักยภาพภายในออกมาให้สามารถนำตนเองเพื่อเล่นเชิงรุกได้อย่างแท้จริง อีกทั้งปรับมุมมองที่เห็นคุณค่าในความแตกต่าง เพื่อดึงศักยภาพทีมงานออกมาอย่างมีพลังร่วม ให้เป็นหนึ่งเดียว

6.การปรับสมดุลของทั้ง “Hard Skills” และ “Soft Skills”

สาเหตุหลักประการหนึ่งขององค์กรที่ไม่ยั่งยืนก็คือ การขาดความเข้าใจว่าองค์กรมีชีวิตที่ประกอบด้วยทั้งส่วนที่เป็นรูปธรรมและนามธรรม องค์กรส่วนใหญ่จึงเน้นแต่การพัฒนาความสามารถด้านเทคนิคและการบริหารจัดการ แต่ละเลยการพัฒนาความสามารถด้านทักษะชีวิตที่เป็นองค์ประกอบที่สำคัญที่จะทำให้องค์กรบรรลุเป้าหมายอย่างเป็นรูปธรรม ดังนั้น การพัฒนาองค์กรให้มั่นคงยั่งยืนจึงต้องเป็นการสร้างความสมดุลของการพัฒนาทั้งด้านเทคนิคและทักษะชีวิต หรือทั้ง “Hard Skills” และ “Soft Skills”

7.“ผลลัพธ์สุดท้าย” ไม่สำคัญเท่า “กระบวนการเรียนรู้”

องค์กรที่เข้มแข็ง มั่นคงยั่งยืน ต้องเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ และองค์กรแห่งการเรียนรู้จะไม่สามารถเกิดขึ้นได้ด้วยการลอกเลียนแบบหรือเน้นแต่ผลลัพธ์สุดท้าย แต่ต้องมาจากความมุ่งมั่นต่อการสร้างกระบวนการเรียนรู้ด้วยตนเองซึ่งเกิดจากมุมมองเชิงระบบที่ว่า “ปัญญา องค์ความรู้ และกระบวนการเรียนรู้ใดๆ เกิดจากการเชื่อมโยงที่หลากหลายขององค์ประกอบที่แตกต่าง”

8.การรับมือกับปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพต้องสร้าง “นวัตกรรม” ผ่าน “แนวคิดเชิงระบบ”

เพราะการแก้ปัญหาให้ได้ผลไม่สามารถจัดการได้ด้วยมุมมองเส้นตรงเชิงเดี่ยว แยกส่วน แต่ต้องเป็นการเปิดมุมมองใหม่ว่า ความท้าทายใดๆ ที่ผ่านเข้ามานั้น มันล้วนมีธรรมชาติของ “ความเป็นระบบ” ซึ่งเกิดจากการเชื่อมโยงขององค์ประกอบ ดังนั้น ในการแก้ปัญหา จึงจำเป็นต้องหาว่าอะไรคือองค์ประกอบหลักที่มีส่วนต่อปัญหาดังกล่าว แล้วปรับเปลี่ยนการเชื่อมโยงเสียใหม่ให้หลากหลาย เพื่อให้ได้เป็นทางเลือกที่แตกต่าง ที่มีคุณค่าเชิงเศรษฐกิจที่สูงกว่า และเราเรียกสิ่งนี้ว่า “ความคิดสร้างสรรค์”

9.การรับมือปัญหาอย่างยั่งยืนต้องปรับมุมมองจาก “มุมมองเชิงเดี่ยว” มาเป็น “มุมมองเชิงซ้อน”

เพราะนอกจากการพัฒนาแนวคิดเชิงระบบเพื่อแก้ปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพแล้ว เราจำเป็นต้องเข้าใจว่า ปัญหาใดๆ ก็ตามล้วนเป็น “ปัญหาระบบเชิงซ้อน” มันเป็นระบบซ้อนระบบปัญหาต่างๆจึงทับซ้อนกันและถูกถักทอหลอมรวมเชื่อมโยงและส่งผลซึ่งกันและกันอย่างไม่อาจแยกออกจากกันได้การแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนจึงต้องเป็นการพิจารณาเชิงระบบที่ทับซ้อนกันทั้งแนวราบและแนวลึก

10.ที่สุดของการพัฒนาบุคลากรคือ “การพัฒนาความสามารถในการนำตนเองเชิงรุก”

ประเด็นสำคัญเรื่องหนึ่งของการพัฒนาบุคลากรคือ การสร้างความมั่นคงทางอารมณ์ มีความเชื่อมั่น ภายในเข้มแข็ง มีภูมิต้านทาน ไม่หวั่นไหว รู้ว่าจะตอบสนองอย่างไรให้เหมาะสมเมื่อมีเหตุการณ์ใดๆ เข้ามากระทบ เพื่อสร้างความสามารถในการนำตนเองเชิงรุก ทั้งหมดนี้จะเป็นจริงได้ บุคคลต้อง “เห็นคุณค่าตนเอง” เท่านั้น

11.การสร้างองค์กรให้เป็นเอกภาพต้องการผู้นำการเปลี่ยนแปลงบนฐานของ “คุณค่ามนุษย์”

เพราะ “ภาวะผู้นำ” มิใช่ “ตำแหน่งผู้นำ” ตำแหน่งผู้นำเป็นเรื่องที่แต่งตั้งกันได้ แต่ภาวะผู้นำต้องเกิดจากการยอมรับเท่านั้น และการยอมรับจะเกิดขึ้นได้ เขาเหล่านั้นต้องได้รับการยอมรับก่อนในรูปของการเข้าใจและยอมรับในตัวตน มันคือการก้าวข้ามของ “การมองคนให้เป็นมนุษย์” เพราะมนุษย์มีชีวิต ชีวิตต้องการคุณค่าและความหมาย และ “ใครก็ตามที่เห็นฉันมีค่า ฉันก็เห็นเขามีค่าเช่นกัน” ด้วยการยอมรับจากบุคคลรอบข้างนี้เอง ภาวะผู้นำจึงเกิดขึ้น และเมื่อต่างฝ่ายต่างยอมรับซึ่งกันและกัน ผู้นำจึงจะสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลง สร้างทีมงานให้สอดคล้องไปในทิศทางเดียวกันอย่างเป็นเอกภาพ นำพาองค์กรสู่ความมั่นคงยั่งยืนได้อย่างแท้จริง

12.ชีวิตคือการเรียนรู้ การพัฒนาที่ยั่งยืนจึงต้องเป็น “การเรียนรู้ตลอดชีวิต”

เพราะชีวิตเป็นกระบวนการสืบเนื่องเชื่อมโยงในทุกขณะ และทุกขณะนั้นคือการเรียนรู้ การเรียนรู้จึงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องอย่างเป็นสายเป็นกระแส ดังนั้น “ชีวิตคือกระบวนการเรียนรู้โดยตัวของมันเอง”

“การเรียนรู้ที่แท้จริงจึงเป็นการเรียนรู้ตลอดชีวิต” องค์กรที่ยั่งยืนจึงต้องเสริมสร้างบรรยากาศแห่งการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง

13.เปลี่ยนใครไม่สำคัญเท่า “เปลี่ยนที่ตนเอง”

เพราะธรรมชาติไม่เคยหยุดนิ่งอ่อนไหวซับซ้อนและคลุมเครือบุคลากรจึงต้องปรับตามเพื่อความอยู่รอดและการเปลี่ยนแปลงใดๆทุกคนในองค์กรต้องเข้าใจก่อนว่าต้องเริ่มที่ตนเองก่อนเสมอ

...ความท้าทาย ปัญหา ไม่มีวันหมด มันเข้ามาอย่างต่อเนื่อง หากจะยั่งยืนแค่ปรับเปลี่ยนไม่พอ มันต้องปฏิรูป!!

Let's block ads! (Why?)


September 28, 2020 at 07:28AM
https://ift.tt/2EElxgb

'ปรับเปลี่ยน' ไม่พอต้อง 'ปฏิรูป' - โพสต์ทูเดย์ work-life-balance - โพสต์ทูเดย์
https://ift.tt/2BaQsOR
Home To Blog

No comments:

Post a Comment