- สื่อและนักข่าวสืบสวนทั่วโลกร่วมกันตรวจสอบเอกสารรายงานธุรกรรมธนาคารที่น่าสงสัยจำนวนหลายพันฉบับที่รั่วไหลออกมา กลายเป็นเรื่องอื้อฉาวในแวดวงธนาคารรอบใหม่ ที่เรียกว่า FinCEN Files
- ธนาคารขนาดใหญ่ของโลกหลายเจ้า ถูกเปิดโปงว่าไม่จริงจังในการต่อสู้กับการฟอกเงิน ปล่อยให้อาชญากรโยกย้ายเงินผ่านบัญชีของพวกเขาไปทั่วโลก
- การเปิดโปงของ FinCEN Files เป็นหลักฐานว่า มาตรการป้องกันการฟอกเงินที่ใช้อยู่ในปัจจุบันนั้นใช้การไม่ได้ และจำเป็นต้องมีการแก้ไข หรือออกมาตรการใหม่ๆ เพื่อป้องกันไม่ให้เรื่องนี้กลายเป็นวงจรอุบาทว์ไม่รู้จบ
FinCEN Files คืออะไร?
ก่อนจะพูดถึง FinCEN Files ต้องทราบก่อนว่า FinCEN เป็นตัวย่อของ ‘เครือข่ายสืบสวนอาชญากรรมทางการเงิน’ สังกัดกระทรวงการคลังของสหรัฐฯ ซึ่งคอยรับ ‘รายงานกิจกรรมน่าสงสัย’ (Suspicious Activity Report: SAR) ที่ธนาคารหรือสถาบันการเงินทั่วโลกส่งมา เมื่อพวกเขาพบการทำธุรกรรมทางการเงินด้วยเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ ที่อาจเป็นการฟอกเงิน หรือพฤติกรรมน่าสงสัยอื่นๆ ทั่วโลก ซึ่งทั้งหมดจะถูกเก็บเป็นความลับ
แต่อยู่มาวันหนึ่งเอกสารของ FinCEN จำนวน 2,657 ฉบับ ซึ่ง 2,121 ฉบับในจำนวนนี้คือรายงาน SAR ที่ถูกส่งมาระหว่างปี 2543-2560 (แต่ส่วนใหญ่อยู่ในช่วงปี 2554-2560) กลับรั่วไหลไปถึงมือของ ‘บัซซ์ฟีด นิวส์’ (Buzzfeed News) กับ สมาคมนักข่าวสืบสวนระหว่างประเทศ (ICIJ) ทำให้เกิดการสืบสวนและแจกจ่ายเอกสารเหล่านี้ไปยังองค์กรสื่อ 108 แห่งใน 88 ประเทศทั่วโลก
เอกสารที่หลุดออกมาถือเป็นจำนวนน้อยนิด หรือเพียง 0.02% ของเอกสาร SAR กว่า 12 ล้านฉบับที่คาดว่าถูกส่งให้ FinCEN ในช่วงปี 2554-2560 เอกสารเหล่านี้จึงไม่อาจสะท้อนภาพรวมกิจกรรมทั้งหมดของธนาคารต่างได้ โดยที่บางฉบับเป็นเอกสารที่มาจากการสืบสวนของสภาคองเกรส เรื่องการแทรกแซงเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในปี 2559 และเกือบครึ่งเป็น SAR จาก ดอยช์ แบงก์ ธนาคารใหญ่สุดของเยอรมนี
อย่างไรก็ตาม การสืบสวนกว่า 1 ปี ของ Buzzfeed กับ ICIJ พบว่า เอกสารจำนวนเล็กน้อยนี้ ครอบคลุมการทำธุรกรรมทางการเงินมูลค่ารวมกว่า 2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ที่อาจเกี่ยวข้องกับการก่ออาชญากรรมและการฟอกเงิน โดยที่กว่า 1.3 ล้านล้านดอลลาร์มาจากธนาคาร ดอยช์ แบงก์ ทำให้ FinCEN Files เป็นเพียงยอดของภูเขาน้ำแข็ง ของการฟอกเงินผ่านสถาบันทางการเงินเท่านั้น
ธนาคารแทบไม่ช่วยยับยั้งการฟอกเงิน
การรั่วไหลของ FinCEN Files เปิดโปงธนาคารรายใหญ่ของโลกหลายเจ้าว่า แทบไม่ช่วยยับยั้งการไหลเวียนของเงินผิดกฎหมายเลย อย่างกรณีของธนาคาร ‘HSBC’ ในอังกฤษ ที่ยอมให้อาชญากรโยกย้ายเงินหลายล้านดอลลาร์ที่ขโมยมาไปทั่วโลก แม้จะได้รับการแจ้งเตือนจากเจ้าหน้าที่สืบสวนของสหรัฐฯ แล้วก็ตาม
ส่วนดอยช์ แบงก์ ของเยอรมนี ก็โยกย้ายเงินสกปรกขององค์กรอาชญากรรม, ผู้ก่อการร้าย และ ผู้ค้ายาเสพติด มูลค่ากว่า 1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ตลอดระยะเวลาหลายปี แม้ระดับผู้บริหารจะได้รับการแจ้งเตือนแล้ว หรือธนาคาร ‘สแตนดาร์ด ชาร์เตอร์’ โยกย้ายเงินให้ ‘อาหรับ แบงก์’ มานานนับทศวรรษ โดยที่เรื่องเหล่านี้เกิดขึ้นหลังจากที่รู้ว่า บัญชีของลูกค้าธนาคารจอร์แดนแห่งนี้ ถูกใช้เพื่อเป็นทุนให้แก่ผู้ก่อการร้าย
ขณะที่ธนาคารบางแห่งไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเจ้าของเงินเป็นใคร แต่ก็ให้ทำธุรกรรมเสียแล้ว เช่น ‘เจพี มอร์แกน’ ยอมให้บริษัทแห่งหนึ่งโอนเงินมากกว่า 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ผ่านบัญชีธนาคารลอนดอน ทั้งที่ไม่รู้ว่าใครเป็นเจ้าของ และพบภายหลังว่า บริษัทดังกล่าวอาจเป็นของสมาชิกองค์กรอาชญากรรม ซึ่งอยู่ในบัญชี 10 อาชญากรที่ เอฟบีไอ ต้องการตัวมากที่สุด
นอกจากนี้ ธนาคารหลายแห่งยังถูกใช้เป็นเส้นทางหลบเลี่ยงมาตรการคว่ำบาตรของบุคคลหรือประเทศต่างๆ โดยพบหลักฐานว่า อาร์คาดี โรเตนเบิร์ก หนึ่งในคนใกล้ชิดที่สุดของ วลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย ใช้ธนาคาร ‘บาร์เคลย์ส’ ในลอนดอน โยกย้ายเงินเข้าสู่ยุโรป ทั้งที่ถูกห้ามไม่ให้ใช้บริการทางการเงินของชาติตะวันตก แล้วนำเงินไปซื้อผลงานศิลปะ
ธนาคารกลางของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ก็ล้มเหลวในการแจ้งเตือน เรื่องบริษัทท้องถิ่นที่ให้ความช่วยเหลืออิหร่าน หลบเลี่ยงมาตรการคว่ำบาตร
ธนาคารต้องปรับ ระบบก็ต้องเปลี่ยน
FinCEN Files เผยอีกว่า สหราชอาณาจักรเป็นจุดที่เงินน่าสงสัยไหลเวียนมากที่สุด โดยเป็นที่ตั้งของบริษัทกว่า 600 แห่ง ที่ถูกระบุชื่อใน SAR ที่รั่วไหลออกมา ขณะที่สหรัฐฯ ตามมาเป็นอันดับที่ 2 ทำให้เห็นอย่างชัดเจนว่า อังกฤษมีกฎหมายต่อต้านการฟอกเงินไม่เข้มงวดมากพอ และเพิ่งมีการแฉเมื่อเดือนมีนาคมว่า มีทนายความ, นักบัญชี และนายธนาคาร ร่วมการสร้างเครือข่ายบริษัทบังหน้าขนาดใหญ่ คอยบริหารเงินสกปรกให้ไหลผ่านกรุงลอนดอน
ในส่วนของธนาคาร พวกเขาส่งเอกสาร SAR ช้าเกินไป โดยตามกฎแล้วควรส่งภายใน 60 วันหลังจากตรวจพบกิจกรรมที่อาจเป็นความผิด แต่จากเอกสารกองนี้ Buzzfeed กับ ICIJ พบว่า ค่าเฉลี่ยระยะเวลาที่ธนาคารส่งรายงานอยู่ที่ 166 วัน หลังพบความผิดปกติ หรือเกือบครึ่งปี
นอกจากนี้ เรื่องที่น่าตกใจคือ ธนาคารมักใช้การค้นหาจากอินเทอร์เน็ต เพื่อหาว่าลูกค้าของพวกเขาเป็นใคร และส่งรายงาน SAR หลังจากข่าวเรื่องความน่าสงสัยในการทำธุรกรรมแดงออกมา หรือมีการสืบสวนอย่างเป็นทางการ ทั้งที่ตามกฎหมายแล้ว ธนาคารต้องรู้ว่าลูกค้าเป็นใคร และไม่ใช่ว่าส่ง SAR แล้วรอให้เจ้าหน้าที่มาจัดการปัญหา ธนาคารก็ควรช่วยหยุดการทำธุรกรรมต้องสงสัยด้วย
ด้านเจ้าหน้าที่ตรวจสอบทางการเงิน ก็สามารถตามรอยเงินสกปรกกลับมาได้เพียงน้อยนิดเท่านั้น โดยรายงานเมื่อปี 2554 ของสำนักงานต่อต้านอาชญากรรมและยาเสพติดของสหประชาชาติระบุว่า เจ้าหน้าที่ยึดหรืออายัดเงินสกปรกที่ไหลเวียนอยู่ทั่วโลกได้ไม่ถึง 1% เท่านั้น บ่งชี้อย่างชัดเจนว่าระบบในปัจจุบันซึ่งมีอายุหลายสิบปีนั้น ใช้การไม่ได้และต้องได้รับการแก้ไข
โอกาสแห่งความเปลี่ยนแปลง หรือวงจรอุบาทว์
ช่องโหว่ที่ปรากฏให้เห็นใน FinCEN Files อาจกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไม่มากก็น้อย หลายฝ่ายเริ่มขยับตัวปรับนโยบายกันแล้ว เช่น รัฐบาลอังกฤษ ประกาศแผนปฏิรูปการลงทะเบียนข้อมูลบริษัท เพื่อจำกัดการฉ้อโกงและฟอกเงิน ขณะที่ FinCEN ประกาศข้อเสนอ ปฏิรูปมาตรการต่อต้านการฟอกเงินของตัวเอง
แต่คำถามคือการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจะเพียงพอหรือไม่? ข้อมูลที่ปรากฏในเอกสารที่รั่วไหลออกมา ส่วนใหญ่เป็นพฤติกรรมในอดีต ที่ธนาคารจำนวนมากถูกลงโทษปรับ หรือคว่ำบาตรโดยรัฐบาลสหรัฐฯ ไปแล้ว ฐานมีความเกี่ยวข้องกับการฟอกเงิน แต่ดูเหมือนว่า เงินหลายพันล้านดอลลาร์ที่พวกเขาเสียไป จะไม่ได้ทำให้พวกเขาปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเท่าไรนัก
ตราบใดที่ไม่มีการควบคุมและลงโทษอย่างจริงจัง เช่น นำตัวผู้รับผิดชอบเข้าคุก หรือถึงขั้นปิดธนาคาร เชื่อว่าข้อเสนอปฏิรูปของรัฐบาลอังกฤษ หรือ FinCEN คงทำอะไรไม่ได้มาก จริงอยู่ที่พาดหัวข่าวฉาวโฉ่จะทำให้ธนาคารยักษ์ใหญ่หุ้นตก แต่ก็บอกไม่ได้อยู่ดีว่าตกเพราะ FinCEN Files หรือปัจจัยอื่นๆ เมื่อเวลาผ่านไป หุ้นของพวกเขาก็จะฟื้นกลับคืนมา ข่าวฉาวก็จะค่อยๆ เงียบไป จนกระทั่งมีการแฉครั้งใหม่ให้โลกตื่นตัวอีกครั้ง แล้วก็เงียบหายไปอีก กลายเป็นวงจรอุบาทว์ที่ไม่จบสิ้น
ผู้เขียน: H2O
อ่านเพิ่มเติม...
September 25, 2020 at 07:00AM
https://ift.tt/32YpANu
'FinCEN Files' แค่ยอดภูเขาน้ำแข็ง แฉยับ ธนาคารใหญ่ไม่จริงจังสู้ฟอกเงิน - ไทยรัฐ
https://ift.tt/2BaQsOR
Home To Blog
No comments:
Post a Comment