คำปราศรัยที่ดุเดือดที่พรั่งพรูออกจากลำโพงขนาดใหญ่หลายตัว สลับกับเสียงโห่ร้องจากผู้ชุมนุม กำลังเพิ่มความร้อนแรงให้การชุมนุมบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ทว่าเพียงแค่ปรายตามองไปไม่ไกล กลับมีคนคุ้นหน้าคล้ายเจ้าของนาฬิกาหรูเกือบ 2 โหลมายืนเป็นเพื่อนร่วมชุมนุม รอยยิ้มก็เริ่มปรากฏบนในหน้า และดับอารมณ์ของผู้ร่วมชุมนุมให้เบาบางลงได้บ้าง ซึ่งก็นับว่าสัมฤทธธิ์ผลตามความตั้งใจของ อรรถวุฒิ เวชยานนท์
กิจกรรมชุมนุมภายใต้แนวคิด 'แฮร์รี พอตเตอร์' ที่เกิดขึ้นช่วงเย็นวันที่ 3 ส.ค. ที่ผ่านมา นับเป็นความต่อเนื่องของการแสดงออกทางการเมืองโดยใช้ วัฒนธรรมร่วมสมัยร่วมวัย หรือ pop culture อย่างดนตรี ภาพยนตร์ การ์ตูน เข้ามาเป็นเครื่องมือในการขยายขอบเขตการรับรู้ของผู้คน หนึ่งในนั้น คือ หน้ากากคนดัง ที่มีชายสวมหน้ากากยางคล้ายใบหน้า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ สวมเสื้อคลุม ถือไม้กายสิทธิ์ร่วมเสกคาถา พร้อมตอบคำถามด้วยการเล่นมุกชวนขันว่า "ไม่รู้ๆ"
แม้การทำหน้ากากเลียนแบบนักการเมืองประกอบการเรียกร้องประเด็นสังคมนั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ในต่างประเทศ แต่สำหรับเมืองไทยเป็นเรื่องน่าตื่นตาตื่นใจไม่น้อย
อะไรคือแรงบันดาลใจเบื้องหลังทำให้ผลงานชิ้นนี้เกิดขึ้น บีบีซีไทยพาไปพูดคุยกับ อรรถวุฒิ เวชยานนท์ ผู้เรียกตัวเองว่าเป็น Special Effects Makeup Artist เจ้าของผลงานหน้ากากนักการเมืองที่กำลังถูกพูดถึง
จากเด็กรัฐศาสตร์สู่เส้นทางสายศิลปะ
"ผมคิดว่าอยากแสดงออกทางการเมือง แต่ว่าอยากจะใช้ศิลปะและอารมณ์ขันแสดงออกทางการเมืองโดยสันติวิถี ไม่ใช่มาใส่อารมณ์ใช้คำพูดหยาบคาย ตะโกนด่ากัน"
นี่เป็นแรงบันดาลใจแรกเริ่มที่ทำให้ อรรถวุฒิ หรือ พีท ในวัย 27 ปี ตัดสินใจสร้างสรรค์ผลงานหน้ากากนักการเมืองขึ้นมา หลังจากได้มีโอกาสไปศึกษาต่อด้านการแต่งหน้าด้วยเทคนิคพิเศษ (special effects make-up) ที่รัฐเพนซิลเวเนีย ประเทศสหรัฐฯ
พีทไม่ได้ก้าวเดินเส้นทางสายศิลปะมาตั้งแต่ต้น เขาจบปริญญาตรีในคณะรัฐศาสตร์ สาขาการระหว่างประเทศ ม.ธรรมศาสตร์ ก่อนที่ค้นพบว่า "ไม่ใช่ทาง" แต่นับว่ายังโชคดีของเขาที่รู้ว่าว่าความชอบด้านศิลปะที่มีมาตั้งแต่เด็กนั้นไม่เคยห่างหายไปเลย การเผชิญหน้ากับความท้าทายครั้งใหม่ในโลกของศิลปินจึงเป็นทางเลือกในช่วงเวลานั้น
เมื่อเรียนจบกลับมาเขาเริ่มต้นทำงานด้วยทักษะที่ไปฝึกปรือฝีมือมา ด้วยการแต่งหน้าด้วยเทคนิคพิเศษในกองถ่ายภาพยนตร์ และมิวสิควิดีโอ ในช่วงเวลาที่เขาเพิ่งเริ่มต้นนี่เอง สถานการณ์การเมืองกลับมาร้อนแรงอีกครั้ง ทำให้เขาปฏิเสธไม่ได้ว่าการเป็นนักเรียนการเมืองยังคงทิ้งร่องรอยวิธีคิดและการมองโลกเอาไว้ไม่น้อย
พีทระลึกถึงครั้งสมัยที่เขาสอบแอดมินชั่นเพื่อเข้าศึกษาต่อ การเมืองเสื้อเหลืองเสื้อแดงเข้มข้นมาก จนเขา "เบื่อหน่าย" เป็นอย่างมาก อีกทั้งเพื่อนร่วมคณะก็เป็นบรรดา "ฮาร์ดคอร์การเมือง" ทั้งสิ้น แต่เมื่อเวลาผ่านไปการได้ศึกษาประวัติศาสตร์ ร่วมถึงรับฟังการถ่ายถอดความรู้จากคณาจารย์ ก็หล่อหลอมให้เขาและเพื่อนเข้าใจและมองโลกกว้างขึ้น
"พอขึ้นมาถึงมหาลัยก็ชอบนะครับ แต่ไม่ได้ทำได้ดีขนาดที่จะไปบรรลุเป้าหมายในการประกอบวิชาชีพด้านรัฐศาสตร์อย่างประสบความสำเร็จ เป้าหมายมันเบลอ ๆ...ผมยังโชคดีที่มีศิลปะอยู่กับตัวตลอดเวลา ผมรู้ว่าชอบ ทำได้ดีด้วย ทำไมผมไม่เลือกทางนี้มากกว่า"
รัฐศาสตร์ นิติศาสตร์ ศิลปกรรมศาสตร์
ท้ายที่สุดด้วยความชอบในศิลปะที่จับต้องได้ อย่างโขน หน้ากาก จึงทำให้เขาเลือกศึกษาอย่างจริงจังในศาสตร์ของการแต่งหน้าด้วยเทคนิกพิเศษ เพราะเห็นว่าเหมาะกับตนเองที่สุด อีกทั้งมองเห็นโอกาสที่จะได้มาวาดลวดลายในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย
กว่าการตัดสินใจครั้งนี้จะเดินหน้าได้ ครอบครัวของเขานับเป็นอีกหนึ่งกลุ่มคนที่ใจเด็ดพอกัน ด้วยพื้นฐานเป็นครอบครัวในสายนักกฎหมายกันทั้งหมด การที่ลูกชายคนหนึ่งจะตัดสินใจขอเดินแยกไปยังเส้นทางสายศิลปะ ครอบครัวจึงแปลกใจไม่น้อย แต่ก็ยอมรับและสนับด้วยเป็นความสุขของเขา
กุลดา เวชยานนท์ คุณแม่ของพีท เล่าให้ฟังว่า คุณครูชั้นอนุบาลของพีทเคยบอกกับเธอว่าเขามีความสามารถด้านศิลปะที่ควรต้องสนับสนุน แต่เธอก็ไม่ได้สนใจกับมันมาก จนวันที่ลูกชายเรียนจบปริญญาตรีแล้วมาบอกแผนการชีวิตขั้นต่อไป เธอถึงได้นึกคิดไปถึงคำแนะนำของคุณครูครั้งนั้น
"ถ้าเรียนรัฐศาสตร์เขาอาจจะไม่เป็นหนึ่ง ถ้าเขาเลือกเรียนศิลปะเขาอาจจะเป็นหนึ่ง" นี่เป็นประโยคที่เธอจำได้ขึ้นใจในวันที่ลูกชายบอกถึงความต้องการที่จะเรียนต่อด้านศิลปะ
แม้จะสนับสนุนมาโดยตลอดเช่นไร แต่เมื่อทราบข่าววว่าลูกชายนำผลงานศิลปะไปร่วมแสดงในกิจกรรมชุมนุม เธอก็อดเป็นห่วงไม่ได้ แต่ก็ไม่ได้คิดจะห้ามด้วยเป็นสิทธิของเขา เพียงแต่เฝ้ามองอยู่ห่าง ๆ "เขาเพิ่งเริ่มต้นเส้นทางสายนี้ ก็อยากให้คนโฟกัสที่ผลงานของเขามากกว่าจับจ้องไปในทางการเมือง"
กว่าจะมาเป็นหน้ากากประวิตร
พีทแจงว่าเขาไม่ได้ทำโปรเจกต์หน้ากากนักการเมืองขึ้นมาเพื่อการชุมนุมครั้งนี้ จะเรียกว่าเป็นช่วงเวลาที่พอดีกัน ประกอบกับมองว่าการแสดงออกทางการเมืองครั้งนี้มีความตั้งใจที่จะหลีกเลี่ยงการเชิญหน้า และใช้การแสดงออกอย่างสร้างสรรค์ ซึ่งตรงกับแนวคิดการทำหน้ากากของเขาที่มีมาแต่ต้น จึงนับเป็นช่วงเวลาเหมาะสมที่จะได้แสดงผลงานให้กับคนทั่วไปได้เห็น
"การเลือกใช้อารมณ์ขันไม่ใช่วิธีที่จะไปบรรลุผลทางการเมืองอยู่แล้ว แต่อย่างน้อยตามที่ผมหวังไว้ ก็เป็นเครื่องมือหนึ่งที่ช่วงแสดงออก และช่วยให้การแสดงออกทางการเมืองไม่รุนแรงจนเกินไป"
เหตุผลที่เขาเลือก พล.อ. ประวิตร เป็นหน้ากากแรก คือ "เป็นประเด็น" และ "ถูกพูดถึง"
ระยะเวลากว่าหนึ่งเดือนและเงินเก็บร่วมหมื่นบาท คือต้นทุนที่เขาลงทุนไปกับผลงานชิ้นแรก ด้วยทุกขั้นตอนล้วนต้องใส่ใจและพิถีพิถันทั้งสิ้น เริ่มต้นด้วยการศึกษาบุคคลที่เลือกทำหน้ากากให้ได้อิริยาบถที่ต้องการในหลายมิติ เพราะการทำงานปั้นนั้นแต่ต่างจากรูปภาพ เขาต้องใส่ใจในทุกองศาของใบหน้านั้น ๆ เพื่อให้ได้ระยะความลึก ความตื้นที่สมจริง ดังนั้นการเลือกภาพหรือวิดีโอต้นแบบที่ใช้จึงต้องใส่ใจเป็นพิเศษ
ถัดมาก็ถึงขั้นตอนการขึ้นโครงปั้นด้วยดิน ก่อนจะขึ้นรูปใส่รายละเอียด เมื่อให้ได้รูปทรงของศีรษะที่ต้องการแล้วจึงนำมาทำเป็นแม่พิมพ์ ให้สามารถผลิตผลงานซ้ำ ๆ ออกมาได้ในอนาคต โดยครั้งนี้พีทเลือกที่จะทำออกมาด้วยวัสดุยางพารา ซึ่งมีสีพื้นเริ่มต้นเป็นสีเหลืองเหมาะสำหรับผิวคนเอเชีย
เมื่อได้ทรงศรีษะเกลี้ยง ๆ มาแล้ว ก็จะมาลงสีให้มีความเหมือนจริง ตามความเข้มอ่อนของผิวตามภาพต้นแบบ ด้วยการลงสีเป็นเลเยอร์ทับซ้อนกันให้มีความโปร่งใส ทำให้เห็นชั้นเลือดฝาดเหมือนใบหน้าคนจริง ก่อนจะถึงขั้นตอนสุดท้าย คือ การใส่เส้นขน โดยจะใช้เข้มเจาะลงไปทีละเส้น ให้เกิดการเรียงตัวทั้งเส้นผมและขนคิ้ว ก่อนที่จัดและตัดทรงผมตามต้องการ
โดยพีทอธิบายจุดเด่นบนใบหน้าของพล.อ. ประวิตร โดยคร่าว ๆ ว่ามีรูปจมูกที่กว้าง และแก้มที่ค่อนข้างมีเนื้อ อีกทั้งมีกระบริเวณด้านข้างของใบหน้าตามวัย แต่มีรอยเหี่ยวย่นน้อยด้วยผิวค่อนข้างสมบูรณ์เต่งตึงสมบูรณ์
"จุดที่ยากเป็นพิเศษ คือช่วงแก้มนี่แหละครับ การทำให้แก้มทิ้งตัวลงมา ดูเป็นธรรมชาติเหมือนกับว่าแรงดึงดูดโลกดึงแก้มท่านลงมา และก็การที่มีเนื้อสมูท (เรียบ) ไปกับโครงหน้ามีส่วนสำคัญ"
เมื่อผลงานเสร็จสมบูรณ์ในช่วงเวลาที่มีการชุมนุมของกลุ่มเยาวชนพอดิบพอดีอย่างกับวางแผนไว้ เขาจึงใช้เวทีการชุมนุมเปิดตัวผลงานชิ้นนี้เสียเลย ซึ่งได้รับกระแสตอบรับไปในทิศทางที่ดี สมกับความตั้งใจและคุ้มค่าที่ลงแรงไป
"ตื่นเต้นดีที่คนให้ความสนใจกับหน้ากากของเรา มีปฏิกิริยาตอบรับที่ดีอย่างที่ตั้งใจไว้ว่า เราทำให้บรรยากาศของที่ชุมนุมนี้ลดความตึงเครียดลงมาบ้าง"
ธนาธร คือ เป้าหมายต่อไป
สำหรับโครงการต่อไป เขาเปิดเผยว่า นักการเมืองคนต่อไปที่กำลังอยู่ในขั้นตอนการปั้น นั่นคือ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ด้วยอิริยาบถของการยิ้มเต็มปากจนตาหยี ซึ่งเห็นได้ไม่บ่อยหนัก ทำให้เขาต้องทำงานในขั้นตอนเตรียมการอยู่ค่อนข้างมาก
"รูปยิ้มสุดปาก ยิ้มจนตาหยี มีรูปอยู่แต่รูปอ้างอิงไม่ได้มีทุกมุม...รูปอ้างอิงน้อยต้องใช้ความคุ้นชินกับกายวิภาคของหน้าคุณธนาธรเพื่อปรับในแต่ละมุม"
เมื่อตั้งคำถามว่าศิลปะไทยอย่างโขนซึ่งเป็นหนึ่งสิ่งที่เขาชื่นชอบในวัยเด็ก กับผลงานหน้ากากนักการเมืองนั้นมีความเหมือนหรือต่างกันอย่างไร พีทกล่าวว่า เขาชอบโขน เพราะมีวิธีการเล่าเรื่องและองค์ประกอบศิลปะในเรื่องที่น่าสนใจ มีตัวละครทั้งลิง และ ยักษ์ อีกทั้งที่น่าแปลกใจนั้นบางตัวละครยังเป็นทั้งสัตว์ประหลาดและซูเปอร์ฮีโรในตัวเดียวกัน ซึ่งหน้ากากที่เขาทำอาจจะยังไม่ได้สามารถเล่าเรื่องได้ไปได้ไกลถึงเพียงนั้น
หากจะตีความว่าหน้ากากนักการเมืองของเขา ในใบหน้าเดียวก็อาจจะเป็นทั้งตัวดีและตัวร้ายในคนเดียวได้หรือไม่ รอยยิ้มและเสียงหัวเราะของพีทก็นำมา ก่อนตอบสั้น ๆ ว่า "หมายความว่าอย่างนั้นก็ได้"
ศิลปะกับการเมือง
"การที่ทำหน้ากากเหมือนจริงออกมา คุณค่าความหมายจริง ๆ อยู่ที่ความคิดเห็นของแต่ละคน ผมให้ความสำคัญกับเรื่องเสรีภาพในการแสดงออกทางความคิด ในใบหน้าหน้าหนึ่งมันอาจจะมีความคิดอะไรหลาย ๆ อย่างซ้อนกันอยู่"
พีทแสดงทัศนะว่า การแสดงออกทางการเมืองเป็นเสรีภาพทางความคิดที่ทุกคนควรมีสิทธิ แต่ทั้งหมดต้องอยู่พื้นฐานที่ควบคุมได้ และเป็นเหตุเป็นผล หากปล่อยให้อารมณ์นำไปมาก เหตุผลและข้อเท็จจริงที่ควรจะชูอาจจะตกเป็นประเด็นรองโดยไม่ตั้งใจ ดังนั้นการใช้ศิลปะที่แฝงความตลกเข้าไปช่วยดับร้อนทางการเมืองลงบ้างจึงเป็นความตั้งใจของเขา
"เนื้อหาในการชุมนุมแต่ละที่ซีเรียสอยู่แล้ว อารมณ์คนก็คุกรุ่นพร้อมระเบิดได้ตลอดเวลา...อยากจะสร้างบรรยากาศดี ๆ ในที่ชุมนุม ทั้งสองฝ่าย ทั้งผู้ที่ชุมนุมอยู่ และเจ้าหน้าที่ตำรวจที่คอยดูแลความสะดวก"
การเมืองกับชีวิตของคนไม่ว่าจะอยู่ในแวดวงใดเป็นเรื่องที่แยกออกจากกันไม่ได้ตามความคิดเห็นของพีท เขายกตัวอย่างอุตสาหกรรมภาพยนตร์ในประเทศแถบเอเชียอย่างเกาหลีใต้ ที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลอย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งนับเป็นสิ่งที่คนทำงานอย่างเขาใฝ่ฝันหา นั่นคือการมีพื้นที่แสดงศักยภาพอย่างเต็มที่ ซึ่งทั้งหมดก็ล้วนมาจากการมีการเมืองที่ดีทั้งสิ้น
เมื่อหันกลับมาดูวงการภาพยนตร์ไทยที่มีคนทำงานในหลายระดับ ทั้งละครไทย ภาพยนตร์ไทย รวมถึงคนไทยที่ทำภาพยนตร์ต่างประเทศ เขามองว่าเมื่อโอกาสในการประสบความสำเร็จไม่มากพอ การผลิตผลงานที่เอื้อต่อการใช้เทคนิคพิเศษ (special effcts) รวมไปบรรดา ภาพที่สร้างขึ้นจากคอมพิวเตอร์ (CGI) จึงเกิดขึ้นได้น้อย
"ถ้าไม่มีหนังที่คิดจะทำกราฟฟิก ก็จะทำแต่หนังรัก หนังผี หนังตลก ไม่มีงานตั้งแต่ต้นสาย ปลายสายก็ไม่มีโอกาสที่จะแสดงออก"
ทั้งหมดจึงเป็นข้อสนับสนุนให้เขาเห็นว่าเรื่องการเมืองเป็นเรื่องของทุกคนที่ต้องแสดงความคิดเห็น ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ด้วยมีผลกับผู้คนในทุดแวดวงไม่เว้นแม้แต่ในวงการศิลปะ ที่ก็มีประวัติศาสตร์เกี่ยวเนื่องกันมาโดยตลอด
สำหรับผลงานทางศิลปะของพีทนอกเหนือจากการทำหน้ากากนักการเมืองนั้น เขากำลังวางแผนที่จะใช้ผลงานศิลปะขยับไปพูดถึงประเด็นทางสิ่งแวดล้อม อย่างกรณีไฟป่าในภาคเหนือที่เกิดึ้นทุกปี โดยใช้เทคนิคอย่าง "Animatronics" ที่ทำให้หุ่นยนต์ที่สร้างขึ้นมาสามารถขยับได้เสมือนจริง อีกทั้งยังมีแผนที่จะเปิดตัวสตูดิโอทำงานครอบคลุม Practical Effects รวมถึงการออกแบบเครื่องแต่งกายที่ใช้ถ่ายทำในภาพยนตร์
ท้ายที่สุดในฐานะคนหนึ่งที่อยากเห็นความเปลี่ยนแปลง เขาได้พูดกับพล.อ.ประวิตร แม้จะเป็นเพียงหน้ากากของท่านก็ตามว่า "ท่านก็น่าจะเข้าใจความต้องการของประชาชนดีนะครับ ท่านก็อยู่ในตำแหน่งที่สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ อยากเห็นท่าน...รับฟังปัญหาของประชาชน และตั้งใจช่วยเหลือและแก้ไขอย่างจริงจัง"
August 15, 2020 at 04:33PM
https://ift.tt/3aDKWCl
หน้ากากประวิตร : จากใจคนปั้น “ท่านก็น่าจะเข้าใจความต้องการของประชาชนดีนะครับ” - บีบีซีไทย
https://ift.tt/2BaQsOR
Home To Blog
No comments:
Post a Comment