คนจำนวนไม่น้อยที่อาจไม่มีเวลาเพียงพอที่จะอุทิศตนทำงานให้กับสังคมอย่างจริงจัง แต่ต้องการที่เป็น “ผู้ให้”เพื่อช่วยเหลือสังคมให้ดีขึ้น โดยการบริจาคเงินตามกำลังทรัพย์ให้กับองค์กรการกุศล สมาคม มูลนิธิต่างๆ ผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนโดยตรง หรือบุคคลที่ขอรับบริจาคเฉพาะกิจ โดยประกาศตนว่าจะนำเงินที่ขอรับบริจาคไปช่วยเหลือตามวัตถุประสงค์ที่แจ้งไว้ในเวลาขอรับบริจาค
ผู้บริจาคมักจะเชื่อว่า การบริจาคเป็นการทำการกุศลอย่างหนึ่งเป็นการช่วยเหลือผู้คนตกทุกข์ได้ยาก อาจช่วยให้ชีวิตของตนพบแต่สิ่งดีๆ สิ่งนี้อาจเป็นช่องทางให้มิจฉาชีพหลอกลวงหากินกับความสงสาร และความเห็นอกเห็นใจของคนได้
ข่าวเกี่ยวกับเงินบริจาคในทางลบปรากฏตามสื่ออยู่หลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็นการไม่ได้นำไปใช้ตามวัตถุประสงค์ การขอรับบริจาคทำถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ การนำเงินบริจาคไปใช้ในเรื่องส่วนตัว ผู้ขอรับบริจาคไม่สามารถแจกแจงรายละเอียด ผู้ที่ตกเป็นข่าวบางคนเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงทำให้สังคมจับตามอง คอยติดตามข่าว และหากผู้ขอรับบริจาคทำผิดจริง สังคมต่างต้องการให้มีบทลงโทษเพื่อไม่ให้เกิดขึ้นอีก
“ฌอน บูรณะหิรัญ” ไลฟ์โค้ช หรือนักพูดสร้างแรงบันดาลใจและกำลังใจ นำเสนอแนวคิดและปรัชญาการใช้ชีวิต ที่มีผู้ติดตามในโซเชียลมีเดียช่องทางต่างๆ หลายล้านคน สอนหลักสูตรบทเรียนชีวิตออนไลน์ ฌอนเป็นวิทยากรรับเชิญหลายครั้ง จัดทำกิจกรรมเพื่อสังคม เช่น ส่งเสริมการปลูกป่า ทำให้ได้รับการยกย่องว่าเป็นคนดีทำเพื่อสังคม ทั้งเป็นเนตไอดอล
ช่วงปลายเดือนมีนาคม พ.ศ. 2563 ฌอนได้โพสต์ผ่านทางเฟซบุ๊คขอรับเงินบริจาคเพื่อดับไฟป่า ทำนองว่า “ผมอยู่เชียงใหม่ได้กลิ่นไฟไหม้ตลอดและตื่นขึ้นมาด้วยอาการปวดหัว...คนเชียงใหม่นับล้านกำลังจะตายไม่ใช่เพราะโควิด แต่เพราะไฟ..ผมอยากเป็นอาสาสมัครดับไฟป่า..”
ในขณะที่มีอาสาสมัครดับไฟป่าออกมาเปิดเผยว่า ไม่มีใครในคณะทำงานได้รับเงินบริจาค หรือชุดผจญเพลิง หรือเครื่องมือ อุปกรณ์ใดๆ จากฌอน ทั้งพยายามติดต่อเพื่อสอบถามฌอนทุกช่องทาง แต่ติดต่อไม่ได้ ทำให้สังคมออกมาเรียกร้องให้ฌอนให้ความกระจ่างในเรื่องนี้ เป็นเวลาหลายสัปดาห์กว่าฌอนจะออกมาชี้แจงว่า ยอดเงินบริจาคตั้งแต่วันที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2563-30 เมษายน พ.ศ. 2563มีเงินเข้ามาประมาณ 800,000 บาท ต่อมาชี้แจงว่า มีตัวเลขที่ตกหล่น ยอดเงินที่ถูกต้องทั้งสิ้น เป็นเงิน 1,338,644.01 บาท โดยโอนเข้าจำนวน 5,974 ครั้ง ยอดเงินบริจาคที่ใช้ไปตามใบเสร็จทั้งสิ้น 991,541.36 บาท
แต่ยังมีหลายประเด็นที่คลุมเครือ เช่น ตอนแรกให้บริจาคผ่านกองทุนลมหายใจ เชียงใหม่ แต่ในวันเดียวกัน ได้เปลี่ยนเป็นให้บริจาคเข้าบัญชีของฌอนโดยตรง โดยอ้างว่าผู้ใหญ่แนะนำให้เปลี่ยนเพื่อจะได้เอาเงินไปซื้อของได้นักข่าวได้สอบถามผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เรื่องรับบริจาคเงินดับไฟป่า แต่ผู้ว่าฯตอบว่าไม่เคยรับบริจาค หรือทำกิจกรรมร่วมกับฌอน ทั้งบัตรเครดิตของฌอนได้ตัดผ่านบัญชีที่รับบริจาค ใช้เงินบริจาคในการบูสต์โพสต์ในเพจเพื่อกระตุ้นให้คนเห็นเป็นจำนวนมาก ซึ่งน่าจะส่งผลให้เงินบริจาคสูงตามไปด้วย แต่ยอดเงินบริจาคกลับมีเพียงล้านกว่าบาท จนมีบางเพจตั้งข้อสังเกตว่า ยอดเงินบริจาคอาจมีถึง 50 ล้านบาท ประกอบกับช่วงเวลาดังกล่าว ฌอนมีทั้งบ้านใหม่และรถหรู
ในกรณีเงินบริจาคที่รายการช่องส่องผีได้รับมาจากประชาชน เพื่อทำบุญยกช่อฟ้า 1 ล้านบาท แต่ใบอนุโมทนาบัตรได้ออกมาในชื่อนายเชษฐวุฒิ วัชรคุณ (บ๊วย) หนึ่งในผู้ดำเนินรายการ ทางเจ้าตัวออกมาชี้แจงว่า ได้คุยกับผู้เชี่ยวชาญทางภาษีและทราบว่าเป็นเรื่องปกติที่ใช้ชื่อบุคคล พร้อมทั้งยืนยันว่า จะไปลงชื่อและระบุว่า จะไม่นำใบอนุโมทนาบัตรที่ทำบุญกับวัด 1 ล้านบาท ไปใช้ลดหย่อนภาษี
เช่นเดียวกับเงินบริจาคเมย์เดย์-เมย์เดย์ จำนวน 7.2 ล้านบาท ของคณะก้าวหน้า ที่ได้มาจากการจัดคอนเสิร์ตออนไลน์ “MAYDAY MAYDAY เราช่วยกัน” ที่โดนกล่าวหาว่า มีข้อพิรุธและความไม่โปร่งใส ผู้ขอรับเงินบางคนอาจเป็นอวตาร ที่ไม่สามารถแสดงตัวตนได้ แทนที่คณะก้าวหน้าจะโต้ตอบโดยแสดงหลักฐานเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ กลับข่มขู่ว่า จะดำเนินคดีทางกฎหมายในข้อหาหมิ่นประมาทกับผู้กล่าวหา จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ผู้คนเป็นจำนวนมากรู้สึกว่า ออกตัวแรงไป
กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการขอรับบริจาค คือพ.ร.บ.ควบคุมการเรี่ยไร พ.ศ.2487 การขออนุญาตทำการเรี่ยไรในที่สาธารณะ สื่อสิ่งพิมพ์ หรือสื่อโทรทัศน์ วิทยุกระจายเสียง หรือด้วยเครื่องเปล่งเสียง ต้องได้รับอนุญาตจากกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย และต้องระบุวัตถุประสงค์ให้ชัดเจนกำหนดวิธีการที่จะทำการเรี่ยไร จำนวนเงินที่ต้องการเรี่ยไร และสถานที่ทำการเรี่ยไร ผู้ที่ได้รับอนุญาตต้อง กำหนดระยะเวลาเริ่มต้นของการเรี่ยไรและระยะเวลาสิ้นสุดไว้อย่างชัดเจน ในการขออนุญาตทำการเรี่ยไรหากการเรี่ยไรซึ่งอ้างว่าเพื่อประโยชน์แก่ราชการ เทศบาล หรือสาธารณประโยชน์ จะจัดมีได้ต่อเมื่อได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการควบคุมการเรี่ยไร หากฝ่าฝืนต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 200 บาท หรือจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือทั้งจำทั้งปรับ
หากการขอรับบริจาค มีการหลอกลวง หรือมีเจตนาฉ้อโกง หรือฉ้อโกงประชาชน จะมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 หรือมาตรา 343 ในเรื่องฉ้อโกง หรือฉ้อโกงประชาชน แล้วแต่กรณี รวมไปถึงมีความผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 วรรค 1 โทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท
หากผู้ขอรับบริจาคมีความบริสุทธิ์ใจในการนำเงินไปทำตามวัตถุประสงค์ตามที่ได้แจ้ง ควรเปิดบัญชีใหม่ เพื่อรับบริจาคโดยเฉพาะ ไม่ควรนำบัญชีส่วนตัวของตนเองที่มีอยู่ก่อนแล้วมารับบริจาค เพื่อที่เงินบริจาคจะได้ไม่ปะปนกับเงินส่วนตัวของผู้ขอรับบริจาค
ผู้ขอรับบริจาคต้องเเสดงให้เห็นถึงการนำเงินบริจาคให้องค์กรการกุศล สมาคม มูลนิธิ แห่งใดว่า ได้รับเงินบริจาคจริง ได้นำเงินที่ได้รับบริจาค ไปส่งมอบหรือทำกิจกรรม เต็มจำนวนยอดเงินหรือแต่เพียงบางส่วน รวมทั้งดอกเบี้ยที่ได้รับจากเงินฝากจะจัดการอย่างไร เพื่อที่จะได้เป็นระบบ และย่อมเป็นการดีที่ผู้บริจาค จะขอตรวจสอบด้วย
กรมสรรพากรควรแสดงบทบาทตรวจสอบยอดเงินบริจาค เรียกตรวจเงินรับบริจาคที่ถือเป็นรายได้ และเอกสารต่างๆ ความจริงจะได้ปรากฏ
นอกจากนี้ พ.ร.บ.ควบคุมการเรี่ยไร พ.ศ.2487 เป็นกฎหมายที่ใช้มาเป็นเวลานานแล้ว ในยุคที่ร่างกฎหมายขณะนั้นยังไม่มีคอมพิวเตอร์ อินเตอร์เนต โซเชียลเนตเวิร์ก
จึงสมควรแก่เวลา ที่จะมีการนำเสนอให้มีการแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับการเรี่ยไรและรับบริจาค เพื่อให้ทันยุคสมัยที่เปลี่ยนไป
July 17, 2020 at 02:00AM
https://ift.tt/2Oxwbqc
คอลัมน์โลกธุรกิจ - พิสูจน์เงินบริจาค - หนังสือพิมพ์แนวหน้า
https://ift.tt/2BaQsOR
Home To Blog
No comments:
Post a Comment