ข่าวเกี่ยวกับไวรัสโควิด-19 กลบเรื่องราวของผลการวิจัยที่ทำนายว่า จำนวนประชากรของไทยและของอีกหลายประเทศจะลดลงอย่างต่อเนื่อง จนเหลือไม่ถึงครึ่งในอีก 80 ปีข้างหน้า การลดลงนี้มิได้เกิดจากเชื้อโรคร้ายในแนวเดียวกันกับโควิด-19 หรือไข้หวัดใหญ่สเปนเมื่อ 100 ปีที่ผ่านมา หากเกิดขึ้นโดยปัจจัยอื่น
นักวิจัยในมหาวิทยาลัยแห่งรัฐวอชิงตันเสนอว่า ปัจจัยที่จะทำให้จำนวนประชากรลดลง ได้แก่ สตรีเลือกที่จะมีลูกน้อยลง จาก 4.7 คน โดยเฉลี่ยเมื่อ 70 ปีที่แล้วเหลือเพียง 1.7 คนในเวลาอีก 80 ปีข้างหน้า เนื่องจากสตรีมีการศึกษาสูงขึ้น ทำงานนอกบ้านมากขึ้นและเข้าถึงการคุมกำเนิดอย่างทั่วถึงยิ่งขึ้น
ผลการวิจัยดังกล่าวชี้ว่า จำนวนประชากรโลกจะยังคงเพิ่มขึ้นจากราว 7,700 ล้านคนในปัจจุบัน ถึงประมาณ 9,700 ล้านคนในเวลาอีก 25 ปีข้างหน้า และต่อจากนั้นจะค่อยๆ ลดลงจนเหลือ 8,800 ล้านคนในเวลาอีก 55 ปี ประเทศที่จะมีประชากรลดลงอย่างน้อยครึ่งหนึ่งประกอบด้วย 23 ประเทศด้วยกัน รวมทั้งไทย เกาหลีใต้ อิตาลี ญี่ปุ่น สเปนและโปรตุเกส
ส่วนจำนวนประชากรของจีนจะเพิ่มขึ้นต่อไปอีกชั่วระยะหนึ่งจนถึงราว 1,400 ล้านคน ก่อนจะลดลงมาเหลือประมาณครึ่งหนึ่ง เมื่อถึงเวลานั้น อินเดียจะใหญ่ที่สุดในโลก โดยเป็นประเทศเดียวที่มีประชากรเกิน 1,000 ล้านคน ตามด้วยไนจีเรีย ซึ่งจำนวนประชากรจะยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจนใกล้ 900 ล้านคนในอีก 80 ปีข้างหน้า เช่นเดียวกันกับไนจีเรีย ประเทศทางตอนใต้ของทะเลทรายซาฮาราจะมีประชากรเพิ่มขึ้นสวนทางกับประเทศส่วนใหญ่
คงเป็นที่ทราบกันดีแล้วว่า จำนวนประชากรในหลายประเทศไม่เพิ่มขึ้นมานานและในบางประเทศเริ่มลดลงบ้างแล้ว แนวโน้มนี้มีผลทำให้หลายประเทศดำเนินนโยบายหลากหลายอย่างเพื่อหวังจะป้องกันมิให้ประชากรของตนลดลง ซึ่งจะส่งผลให้ฐานด้านภาษีลดลงด้วยพร้อมกับการขาดผู้ดูแลคนชราที่จะมีอัตราสูงขึ้น
เท่าที่ผ่านมา นโยบายเหล่านั้นมีผลเพียงจำกัดไม่ว่าจะเป็นมาตรการจูงใจให้สตรีมีลูกมากขึ้น หรือการเปิดประเทศกว้างขึ้นเพื่อรับผู้อพยพจากภายนอก นโยบายแนวหลังนี้คงทำต่อไปอย่างกว้างขวางได้ยากเนื่องจากประเทศส่วนใหญ่ต่างมีประชากรลดลงยกเว้นเพียงทางส่วนใต้ของทวีปแอฟริกา ซึ่งเป็นประชากรผิวสีที่มีหลายประเทศไม่ต้อนรับแม้จะไม่แสดงออกมาโดยตรงก็ตาม ผู้วิจัยจึงเสนอให้ประเทศต่างๆ เร่งพิจารณาว่าจะทำอย่างไรกันต่อไปอย่างจริงจังเสียตั้งแต่วันนี้
การทำงานโดยไม่มีการเกษียณจะช่วยได้ในระดับหนึ่ง แต่เมื่อถึงวัยชราจนร่างกายทำงานไม่ไหวจริงๆ จะหาใครมาดูแลเป็นประเด็นใหญ่ในสังคมที่มีคนชรามากกว่าคนวัยหนุ่มสาว เทคโนโลยีใหม่คงช่วยได้บ้าง แต่ย่อมไม่ได้เสมอไปในทุกกรณี
จากมุมมองของทรัพยากรธรรมชาติและระบบนิเวศ การลดลงของจำนวนประชากรโลกน่าจะมีผลดี แต่ประเด็นนี้ยังต้องมองต่อไปถึงการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรจนถึงราว 9,700 ล้านคนก่อนจะลดลง ในขณะที่คนส่วนใหญ่ยังคงพยายามใช้ทรัพยากร หรือบริโภคเพิ่มขึ้นต่อไปในนามของการพัฒนา ทั้งที่ 2 ปัจจัยนี้มีผลกระทบสูงมากต่อระบบนิเวศ แต่บางประเทศกลับปรับเปลี่ยนนโยบายไปในทางลดมาตรการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมนำโดยสหรัฐซึ่งใช้ทรัพยากรธรรมชาติมากที่สุด
เหตุการณ์ใหญ่ในปัจจุบันเกี่ยวกับไวรัสโควิด-19 จึงอาจมองได้ว่าธรรมชาติกำลังตอบโต้ผ่านเชื้อโรคร้าย การที่ไวรัสโควิด-19 โจมตีคนชราจนถึงแก่ความตายในอัตราสูงกว่าคนทุกรุ่นอาจมองต่อไปได้ว่า ธรรมชาติกำลังเสนอทางออกให้สำหรับในกรณีที่มนุษย์เรามีคนชราในอัตราสูงเกินฐานภาษีและไม่มีผู้ดูแลเพียงพอ
จริงอยู่ไวรัสโควิด-19 อาจชี้ทางให้โดยมนุษย์เราไม่ต้องใช้วิธีปรับเปลี่ยนพฤติกรรมอย่างมีนัยสำคัญ แต่นั่นจะเป็นแนวนโยบายที่สังคมโดยทั่วไปนำมาใช้กันหรือ? มันไม่น่าจะใช่ อย่างไรก็ตาม หากมนุษย์เรายังไม่เปลี่ยนพฤติกรรมอย่างจริงจังในด้านการใช้ทรัพยากรเพื่อการบริโภค ธรรมชาติย่อมจะพิโรธและลงโทษเราดังที่กำลังทำให้เห็นเป็นตัวอย่างอยู่ในปัจจุบัน
SOURCE : www.bangkokbiznews.com
July 25, 2020 at 01:30PM
https://ift.tt/3hCuN1U
'ประชากรไทย' อาจเหลือไม่ถึงครึ่ง ในอีก 80 ปีข้างหน้า - TERRABKK
https://ift.tt/2BaQsOR
Home To Blog
No comments:
Post a Comment